วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขนมซ่าหริ่ม

ขนมซ่าหริ่ม






สูตรขนมไทยซ่าหริ่ม (สลิ่ม)

ระยะเวลา 1 ชม
 วัตถุดิบซ่าหริ่ม (สลิ่ม)
1. แป้งถั่วเขียว (แป้งซ่าหริ่ม) 1/2 ถ้วย
2. น้ำลอยดอกมะลิ (ต่อ 1 ส่วน) 2 1/4 ถ้วย
3. สีผสมอาหาร (ชมพู ถ้าใช้สีเขียว-ลดน้ำแล้วเพิ่มสีหรือน้ำใบเตย 1 ถ้วย) 1 หยดน้ำสลิ่ม 
4. มะพร้าวขูดขาว คั้นกะทิ 3 ถ้วย
5. น้ำเชื่อม (น้ำตาลทราย 1 ถ้วย กับน้ำ 1/4 ถ้วย) 
วิธีทำซ่าหริ่ม (สลิ่ม)
1.แป้งซ่าหริ่ม 3 สี 
     1.1 อ่างผสมใส่แป้งถั่วเขียว น้ำ (หยดสีผสมอาหาร) คนละลายให้เข้ากัน กรองผ้าขาวบาง ใส่กะทะทอง ตั้งไฟกลาง-อ่อน กวนไปทางเดียวกัน จนเหนียว แป้งเริ่มเปลี่ยนสี ดูใสขึ้น ยกลง ตักใส่ที่กดสลิ่ม (ลองด้วยน้ำเย็น) กดให้เป็นเส้นยาวเสมอกัน แช่ในน้ำเย็นสักพัก เทใส่กระชอนสะเด็ดน้ำ ใส่ภาชนะไว้
     1.2 ถ้าทำสีเขียวโดยใช้น้ำใบเตยคั้น – แป้งถัว 1/2 ถ้วย น้ำ 1 1/4 ถ้วย น้ำใบเตย 1 ถ้วยกวนแป้งทำเหมือนขั้นตอนด้านบน
2.น้ำสลิ่ม (น้ำเชื่อมผสมหัวกะทิ) น้ำเชื่อมข้น ใส่หัวกะทิ คนให้เข้ากัน (หยดกลิ่นมะลิหรือ อบควันเทียน) 
3. เวลาทาน ตักสลิ่ม 3 สีเท่าๆ กัน ใส่ด้วย ราดด้วยน้ำสลิ่ม ทุบน้ำแข็งใส่



แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 
http://www.google.co.th/search?


ขนมช่อม่วง

ขนมช่อม่วง



ส่วนผสม
ส่วนผสมแป้ง
แป้งข้าวเจ้า½  ถ้วยตวง
แป้งข้าวเหนียว1 ช้อนโต๊ะ
แป้งมันสำปะหลัง2 ช้อนชา
แป้งท้าวยายม่อม2 ช้อนชา
น้ำมันพืช1 ช้อนโต๊ะ
น้ำดอกอัญชัน½  ถ้วยตวง
ส่วนผสมแป้งนวล
แป้งมัน2 ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวเจ้า1 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมไส้
เนื้อไก่บดละเอียด½ ถ้วยตวง
รากผักชี กระเทียม พริกไทยโขลก1 ช้อนโต๊ะ
หอมใหญ่หั่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ¼  ถ้วยตวง
น้ำมันสำหรับผัด1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปรุงรส
น้ำปลาดี2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ1 ช้อนโต๊ะ
ผักที่ใช้รับประทาน
ผักกาดหอม ผักชี พริกขี้หนู
กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ


วิธีทำ
วิธีกวนแป้ง 
1. ผสมแป้งทุกชนิดลงในกระทะทอง 
2. ใส่น้ำดอกอัญชันทีละน้อย นวดอย่าให้แป้งเป็นเม็ดใส่น้ำมัน 
3. ตั้งไฟกวน ใช้ไฟปานกลาง พอแป้งเริ่มข้นจึงลดไฟลง กวนให้มีความดิบอยู่บ้างยกลง 
4. ผสมแป้งนวลในภาชนะใส่แป้งที่กวนแล้วลงไปนวดให้เข้ากัน แบ่งเป็นก้อนเล็กๆเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 ชม. คลุมด้วยผ้าขาวบาง อีกครั้ง 

วิธีทำไส้ 
1. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพอร้อน ใส่รากผักชี  กระเทียม พริกไทย ผัดให้หอม ใส่ไก่ลงผัดให้สุก จึงใส่หอมใหญ่ 
2. ปรุงรสด้วยน้ำปรุงรส ผัดให้เข้ากันจนแห้ง ยกลง 

วิธีปั้นช่อม่วง 
1. นำแป้งสีม่วงที่ปั้นกลมๆ ไว้แผ่ให้เป็นเบ้า ใส่ไส้ตรงกลางหุ้มให้มิด 
2. ใช้ที่จีบ จีบให้เป็นกลีบสับหว่างกันจนรอบ นำไปนึ่งประมาณ 5 นาที ยกลง 
3. จัดใส่จานรับประทานกับผักกาดหอม ผักชี พริกขี้หนูและกระเทียมเจียว












แหล่งข้อมูลอ้างอิง :


ขนมบัวลอย

ขนมบัวลอย





+ ส่วนผสมบัวลอย +
* แป้งข้าวเหนียว 2 ถ้วยตวง
* เผือกนึ่งสุกบดละเอียด 1 ถ้วยตวง (กรณีต้องการบัวลอยหลายสีสามารถเลือกใช้ฟักทอง เพื่อทำบัวลอยสีเหลือง, ใบเตย เพื่อทำบัวลอยสีเขียว, อื่นๆ)
* น้ำเปล่า 1/4 ถ้วยตวง

+ส่วนผสมน้ำกะทิ+
* กะทิ 2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลมะพร้าว 100 กรัม
* น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
* เกลือป่น 1 ช้อนชา
* เนื้อมะพร้าวอ่อน, ไข่ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)
* งาขาว (สำหรับแต่งหน้า จะมีหรือไม่มีก็ได้)
วิธีทำ
 1. ทำบัวลอยโดยผสมแป้งข้าวเหนียว, เผือกนึ่งและน้ำเปล่าเข้าด้วยกัน นวดจนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จากนั้นจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ระหว่างปั้นนั้น ควรโรยด้วยเศษแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกบัวลอยติดกัน (ถ้าต้องการทำบัวลอยหลายสีก็ใช้ส่วนผสมเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นฟักทองสำหรับสีเหลือง หรือใบเตยสำหรับสีเขียว เป็นต้น)
          2. ต้มน้ำในหม้อขนาดกลาง รอจนเดือดจึงใส่ลูกบัวลอยที่ปั้นไว้แล้ว เมื่อบัวลอยสุกให้นำออกมาแช่ในน้ำเย็น (บัวลอยที่สุกแล้วจะลอยขึ้น)
          3. ทำน้ำกะทิโดยผสม กะทิ, น้ำตาลมะพร้าว, น้ำตาลทรายและเกลือป่นลงไป ควรใส่น้ำตาลทรายแค่ครึ่งเดียวก่อน ถ้ายังหวานไม่พอจึงค่อยใส่เพิ่มลงไป ต้มจนเดือด จึงหรี่ไฟลง นำบัวลอยที่ต้มไว้แล้วใส่ลงไปในน้ำกะทิ ต้มต่ออีกสักพักจึงปิดไฟ ถ้ามีมะพร้าวอ่อนก็ใส่ได้เลย พร้อมลูกบัวลอย (กรณีต้องการทำบัวลอยไข่หวาน ก็ตอกไข่ใส่ไปในหม้อหลังจากที่ใส่บัวลอยลงไป รอจนไข่สุกจึงปิดไฟ)
          4. ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยงาขาว เสริฟขณะร้อนหรือรอให้เย็นก็ได้



วิดีโอ สาธิตการทำบัวลอยสามสี




แหล่งข้อมูลอ้างอิง :


ขนมชั้น

ขนมชั้น



วิธีทำขนมชั้น

ส่วนผสม
หัวกะทิ 4 ถ้วย
น้ำตาลทราย 3 ถ้วย
น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วย
แป้งถั่วเขียว 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งท้าวยายม่อม 1 ถ้วย
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งมัน 2 ถ้วย
ใบเตย 10 ใบ คั้นน้ำข้น ๆ
วิธีทำ
1) เชื่อมน้ำเชื่อมโดยใช้น้ำ 1 ถ้วย น้ำตาลทราย 3 ถ้วย     2) ผสมแป้งทั้ง 4 ชนิด เข้าด้วยกัน แล้วนวดกับกะทิ โดยค่อย ๆ ใส่กะทิทีละน้อย ๆ นวดนาน ๆ จนกะทิหมด แล้วใส่น้ำเชื่อมคนให้เข้ากัน พอให้แป้งติดหลังมือนิดหน่อย   3) กรองแป้งทั้งหมด แล้วแบ่งแป้งครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว อีกครึ่งหนึ่งใส่ใบเตยหรือสีตามชอบ
4) นำถาดไปนึ่งแล้วทาน้ำมันให้ทั่ว ใส่แป้งสีขาวประมาณ 1/2 ถ้วย แล้วนึ่งให้สุกประมาณ 5 นาที ชั้นที่ 2 ใส่สีเขียว แล้วนึ่งอีกประมาณ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปจนหมดแป้ง แล้วให้ชั้นสุดท้ายเป็นสีเข้มกว่าชั้นอื่น ๆ เมื่อสุกยกลงทิ้งให้เย็น แล้วตัดเป็นชิ้นตามต้องการ



วิดีโอ การทำขนมชั้น




แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

ขนมฝอยทอง

ขนมฝอยทอย

         ฝอยทอง  เป็นขนมโปรตุเกส ลักษณะเป็นเส้นฝอยๆ สีทอง ทำจากไข่แดงของไข่เป็ดเคี่ยวในน้ำเดือดและน้ำตาลทรายชาว

สูตรฝอยทอง• เวลาในการทำ 30 นาที• ส่วนผสมสำหรับ 2-3 ที่

วัตถุดิบที่ใช้

1. ไข่แดงของไข่เป็ด 3 ฟอง        2. ไข่แดงของไข่ไก่ 2 ฟอง          3. กลิ่นดอกมะลิ ½ ชช.
4. ใบเตย 1 ใบ                             5. น้ำตาลทราย 600 ก.                6. น้ำเปล่า 400 มล.
7. เทียนอบ 1 ชิ้น

วิธีทำฝอยทอง1. นำน้ำเปล่า น้ำตาลทราย ใบเตย กลิ่นมะลิ ลงต้มในกระทะทองเหลือง เปิดไฟแรง ห้ามคนเด็ดขาดไม่อย่างนั้นน้ำตาลจะตกผลึก
2. ตีไข่ไก่และไข่เป็ดให้เข้ากัน นำไปกรอด้วยกระชอนตาถี่ จากนั้นตักไข่ใส่กรวยสำหรับทำฝอยทอง
3. ตักใบเตยออก และหยอดไข่ให้เป็นสาย วนให้รอบกระทะทองเหลืองประมาณ 20- 30 รอบ ต่อ 1 ชิ้น
4. ใช่ไม้ปลายแหลม ค่อยๆช้อนฝอยทองขึ้นมาให้เป็นแผ่น วางพักไว้บนตะแกรง 30 นาที
5. จุดเทียนหอมให้มีควันขึ้นมา แล้วจึงดับไฟ นำเทียนหอม ขนมฝอยทอง อบรวมกันด้วยภาชนะปิด 10 นาที ก็จะได้ฝอยทองหอมๆไว้รับประทาน

วีดีโอ สาธิตการทำขนมฝอยทอง





แหล่งข้อมูลอ้างอิง :


วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาขนมไทย




ขนมไทย
ขนมไทย มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีที่ประณีตบรรจง


ประวัติความเป็นมาของขนมไทย

 ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่างานทำบุญ เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้กำลังคนอาศัยเวลาในการทำพอสมควร ส่วนใหญ่เป็น ขนบประเพณี เป็นต้นว่า ขนมงาน เนื่องในงานแต่งงาน ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครก ขนมถ้วย ฯลฯ ส่วนขนมในรั้วในวังจะมีหน้าตาจุ๋มจิ๋ม ประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนมสวยงาม
ขนมไทยดั้งเดิม มีส่วนผสมคือ แป้ง น้ำตาล กะทิ เท่านั้น ส่วนขนมที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน นั้น มารี กีมาร์ เดอ ปีนา (ท้าวทองกีบม้า) หญิงสาวชาวโปรตุเกส เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา
ขนมไทยที่นิยมทำกันทุกๆ ภาคของประเทศไทย ในพิธีการต่างๆ ก็คือขนมจากไข่ และเชื่อกันว่าชื่อและลักษณะของขนมนั้นๆ เช่น รับประทานฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกันยืดยาว มีอายุยืน รับประทาน ขนมชั้นก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน รับประทาน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เจริญ รับประทานขนมทองเอก ก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ รวมถึงตำราขนมไทยด้วย จึงนับได้ว่าวัฒนธรรมขนมไทยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ตำราอาหารไทยเล่มแรกคือแม่ครัวหัวป่าก์
ในสมัยต่อมาเมื่อการค้าเจริญขึ้นในตลาดมีขนมนานาชนิดมาขาย และนับว่าเป็นยุคที่ขนมไทยเป็นที่นิยม
การแบ่งประเภทของขนมไทย
แบ่งตามวิธีการทำให้สุกได้ดังนี้ 
·         ขนมที่ทำให้สุกด้วยการกวน ส่วนมากใช้กระทะทอง กวนตั้งแต่เป็นน้ำเหลวใสจนงวด แล้วเทใส่พิมพ์หรือถาดเมื่อเย็นจึงตัดเป็นชิ้น เช่น ตะโก้ ขนมลืมกลืน ขนมเปียกปูน ขนมศิลาอ่อน และผลไม้กวนต่างๆ รวมถึง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว และกะละแม
·         ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่ง ใช้ลังถึง บางชนิดเทส่วนผสมใส่ถ้วยตะไลแล้วนึ่ง บางชนิดใส่ถาดหรือพิมพ์ บางชนิดห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าว เช่น ช่อม่วง ขนมชั้น ข้าวต้มผัด สาลี่อ่อน สังขยา ขนมกล้วย ขนมตาลขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ขนมน้ำดอกไม้
·         ขนมที่ทำให้สุกด้วยการเชื่อม เป็นการใส่ส่วนผสมลงในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือดจนสุก ได้แก่ ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน กล้วยเชื่อม จาวตาลเชื่อม
·         ขนมที่ทำให้สุกด้วยการทอด เป็นการใส่ส่วนผสมลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ จนสุก เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ขนมกง ขนมค้างคาว ขนมฝักบัว ขนมนางเล็ด
·         ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่งหรืออบ ได้แก่ ขนมหม้อแกง ขนมหน้านวล ขนมกลีบลำดวน ขนมทองม้วน สาลี่แข็ง ขนมจ่ามงกุฎ นอกจากนี้ อาจรวม ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมดอกลำเจียกที่ใช้ความร้อนบนเตาไว้ในกลุ่มนี้ด้วย
·         ขนมที่ทำให้สุกด้วยการต้ม ขนมประเภทนี้จะใช้หม้อหรือกระทะต้มน้ำให้เดือด ใส่ขนมลงไปจนสุกแล้วตักขึ้น นำมาคลุกหรือโรยมะพร้าว ได้แก่ ขนมถั่วแปบ ขนมต้ม ขนมเหนียว ขนมเรไร นอกจากนี้ยังรวมขนมประเภทน้ำ ที่นิยมนำมาต้มกับกะทิ หรือใส่แป้งผสมเป็นขนมเปียก และขนมที่กินกับน้ำเชื่อมและน้ำกะทิ เช่น กล้วยบวชชี มันแกงบวด สาคูเปียก ลอดช่อง ซ่าหริ่ม
ขนมไทยแต่ละภาค
ขนมไทยภาคเหนือ
ส่วนใหญ่จะทำจากข้าวเหนียว และส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้ม เช่น ขนมเทียน ขนมวง ข้าวต้มหัวหงอก มักทำกันในเทศกาลสำคัญ เช่นเข้าพรรษา สงกรานต์
ขนมที่นิยมทำในงานบุญเกือบทุกเทศกาลคือขนมใส่ไส้หรือขนมจ๊อก ขนมที่หาซื้อได้ทั่วไปคือ ขนมปาดซึ่งคล้ายขนมศิลาอ่อน ข้าวอีตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวแตนหรือข้าวแต๋น ขนมเกลือ ขนมที่มีรับประทานเฉพาะฤดูหนาว ได้แก่ ข้าวหนุกงา ซึ่งเป็นงาคั่วตำกับข้าวเหนียว ถ้าใส่น้ำอ้อยด้วยเรียกงาตำอ้อย ข้าวแคบหรือข้าวเกรียบว่าว ลูกก่อ ถั่วแปะยี ถั่วแระ ลูกลานต้ม
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนมพื้นบ้านได้แก่ ขนมอาละหว่า ซึ่งคล้ายขนมหม้อแกง ขนมเปงม้ง ซึ่งคล้ายขนมอาละหว่าแต่มีการหมักแป้งให้ฟูก่อน ขนมส่วยทะมินทำจากข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อยและกะทิ ในช่วงที่มีน้ำตาลอ้อยมากจะนิยมทำขนมอีก 2 ชนิดคือ งาโบ๋ ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวคล้ายตังเมแล้วคลุกงา กับ แปโหย่ ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี มีลักษณะคล้ายถั่วตัด
ขนมไทยภาคกลาง
ส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ข้าวตัง นางเยี่ยวเล็ด ข้าวเหนียวมูน และมีขนมที่หลุดลอดมาจากรั้ววัง จนแพร่หลายสู่สามัญชนทั่วไป เช่น ขนมกลีบลำดวน ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ ขนมตาล ขนมกล้วย ขนมเผือก เป็นต้น
ขนมไทยภาคอีสาน
เป็นขนมที่ทำกันง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมากเหมือนขนมภาคอื่น ขนมพื้นบ้านอีสานได้แก่ ข้าวจี่ บายมะขามหรือมะขามบ่ายข้าว ข้าวโป่ง นอกจากนั้นมักเป็นขนมในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน โดยชาวบ้านนำข้าวที่ห่อใบตอง มัดด้วยตอกแบบข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ ข้าวยาคู ขนมพื้นบ้านของจังหวัดเลยมักเป็นขนมง่ายๆ เช่น ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง ข้าวบ่ายเกลือ คือข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนจิ้มเกลือให้พอมีรสเค็ม ถ้ามีมะขามจะเอามาใส่เป็นไส้เรียกมะขามบ่ายข้าว น้ำอ้อยกะทิ ทำด้วยน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียว ใส่ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวซอย ข้าวพองทำมาจากข้าวตากคั่วใส่มะพร้าวหั่นเป็นชิ้นๆ และถั่วลิสงคั่ว กวนกับน้ำอ้อยจนเหนียวเทใส่ถาด ในงานบุญต่างๆจะนิยมทำขนมปาด (คล้ายขนมเปียกปูนของภาคกลาง) ลอดช่อง และขนมหมก (แป้งข้าวเหนียวโม่ ปั้นเป็นก้อนกลมใส่ไส้กระฉีก ห่อเป็นสามเหลี่ยมคล้ายขนมเทียน นำไปนึ่ง) 
ขนมไทยภาคใต้
    ชาวใต้มีความเชื่อในเทศกาลวันสารท เดือนสิบ จะทำบุญด้วยขนมที่มีเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้เท่านั้น เช่น ขนมลา ขนมพอง ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ ขนมบ้าหรือขนมลูกสะบ้า ขนมดีซำหรือเมซำ ขนมเจาะหูหรือเจาะรู ขนมไข่ปลา ขนมแดง เป็นต้น
ตัวอย่างของขนมพื้นบ้านภาคใต้ได้แก่ 
·         ขนมหน้าไข่ ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำตาล นำไปนึ่ง หน้าขนมทำด้วย กะทิผสมไข่ น้ำตาล เกลือ ตะไคร้และหัวหอม ราดบนตัวขนม แล้วนำไปนึ่งอีกครั้ง
·         ขนมฆีมันไม้ เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม ทำจากมันสำปะหลังนำไปต้มให้สุก โรยด้วยแป้งข้าวหมาก เก็บไว้ 1 คืน 1 วันจึงนำมารับประทาน
·         ขนมจู้จุน ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำเชื่อม แล้วเอาไปทอด มีลักษณะเหนียวและอมน้ำมัน
·         ขนมคอเป็ด ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียว นวดรวมกับไข่ไก่ รีดเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้นๆ เอาไปทอด สุกแล้วเอาไปเคล้ากับน้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนเหนียวข้น
·         ขนมคนที ทำจากใบคนที ผสมกับแป้งและน้ำตาล นึ่งให้สุก คลุกกับมะพร้าวขูด จิ้มกับน้ำตาลทราย
·         ขนมกอแหละ ทำจากแป้งข้าวเจ้ากวนกับกะทิและเกลือ เทใส่ถาด โรยต้นหอม ตัดเป็นชิ้นๆ โรยหน้าด้วย มะพร้าวขูดคั่ว กุ้งแห้งป่น และน้ำตาลทราย
·         ขนมก้านบัว ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก นำไปโขลกด้วยครกไม้จนเป็นแป้ง รีดให้แบน ตากแดดจนแห้ง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดให้สุก ฉาบด้วยน้ำเชื่อม
·         ข้าวเหนียวเชงา เป็นข้าวเหนียวนึ่งสุก ตำผสมกับงาและน้ำตาลทราย
·         ข้าวเหนียวเสือเกลือก คล้ายข้าวโพดคลุกของภาคกลางแต่เปลี่ยนข้าวโพดเป็นข้าวเหนียวนึ่งสุกและใส่กะทิด้วย
·         ขี้หมาพองเช มีลักษณะเป็นก้อนๆ ทำจากข้าวเหนียวคั่วสุกจนเป็นสีน้ำตาล ตำให้ละเอียดเคล้ากับมะพร้าวขูด น้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนข้น เคล้ให้เข้ากันดี แล้วปั้นเป็นก้อน
·         ขนมดาดา เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม ใช้ในโอกาสเดียวกับฆานม ประกอบด้วยข้าวเจ้า ข้าวเหนียวผสมน้ำบดให้ละเอียด นำไปละเลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ พับให้เป็นแผ่น กินกับน้ำตาลเหลว
·         ขนมกรุบ นิยมทำกันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้แป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำอุ่น นำไปรีดให้แผ่บางบนใบตอง นำไปนึ่งแล้วตากแดดให้แห้ง แล้วทอดให้กรอบคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยวเป็นยางมะตูม
·         ขนมก้องถึ่ง ทำจากถั่วลิสงคั่ว คลุกกับน้ำตาลร้อนๆ แล้วใช้ไม้ทุบให้ละเอียดจนเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2